ผ้าขาวม้าร้อยสีของดีบ้านหนองขาว










   จากประวัติที่ชาวบ้านหนองขาวต้องต่อสู้กับภัยธรรมชาติ (ที่แห้งแล้ง) ภัยจากศึกสงคราม (เส้นทางเดินทัพ) และการดูแลที่ไม่ทั่วถึงของฝ่ายปกครอง     เนื่องจากเป็นพื้นที่ชายแดนของอำเภอท่าม่วง ทำให้ชาวนาหนองขาวไทยโดยทั่วไป โดยเฉพาะผู้หญิงในครอบครัวจะทอผ้าสำหรับใช้เองและคนในครอบครัว ซึ่งการทอนั้นจะใช้กี่มือ เส้นด้ายก็จะใช้ฝ้ายปั่นเอง จึงขาดง่ายทำให้ผ้าทอช้ามากและคุณภาพไม่ค่อยดี ผ้าทอส่วนมากเป็นผ้านุ่ง ผ้าห่ม และผ้าขาวม้า         ต่อมาเมื่อความเจริญได้แผ่กระจายจากสังคมเมืองสู่ชนบท แนวความคิดบริโภคนิยมที่มาจากประเทศทางตะวันตก ทำให้การทอผ้าในชนบทลดน้อยลง แต่ชาวบ้านหนองขาวยังคงรักษาประเพณี กิจกรรมของชาวชนบทไทยสืบมา เมื่อ พ.ศ. 2524 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ได้เปิดสอนการทอผ้าด้วยกี่กระตุกขึ้นที่ตำบลทุ่งสมอ อ.พนมทวน จ.กาญจนบุรี ให้กับสมาชิกกลุ่มแม่บ้านตำบลทุ่งสมอ และได้จัดกลุ่มทอผ้าทุ่งสมอขึ้น แต่ก็ประสบปัญหาด้านการจัดการและการตลาด ทำให้กลุ่มทอผ้าทุ่งสมอไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้ คุณอารีรัตน์ พฤฑฒิกุล ซึ่งได้เข้าร่วมอบรมครั้งนั้นด้วย ได้นำปัญหาของกลุ่มทอผ้า ทุ่งสมอเป็นกรณีศึกษา ถึงปัญหาและวิธีการดำเนินการแก้ไข บวกกับความรู้ที่ได้จาก การอบรม มาจัดตั้งกลุ่มทอผ้าหนองขาวขึ้นในกลุ่มสตรีอาสาพัฒนาตำบลหนองขาว ซึ่งกลุ่มพัฒนาฯ ก็มีการแบ่งกลุ่มต่าง ๆ ตามความสนใจหลายกลุ่ม เช่น กลุ่มทำดอกไม้ประดิษฐ์ กลุ่มทอผ้า กลุ่มเลี้ยงสัตว์ ประกอบกับได้รับการส่งเสริมประชาสัมพันธ์อย่างจริงจัง จึงทำให้ ผ้าขาวม้าร้อยสีของดีบ้านหนองขาวเป็นที่แพร่หลายและรู้จักกันอย่างกว้างขวาง มีการส่งเสริมโดยการจัดงาน สืบสานประเพณีของดีบ้านหนองขาวโดยสำนักงานการส่งเสริมการท่องเที่ยว ได้จัดการแสดง แสง สี เสียง เป็นงานใหญ่         คุณสมบัติของผ้าทอหนองขาว จะมีสีสดใส ลวดลายแปลกตา เนื้อผ้าจะเป็น มันวาวคล้ายผ้าไหม ดูแลรักษาง่าย ซักรีดตามปกติ ไม่ยืดไม่หด สีไม่ตก สวมใส่สบาย ไม่อบร้อน มีอายุการใช้งานที่ยาวนาน เนื่องจากเป็นผ้าที่ทอขึ้นจากเส้นด้วย ไหมประดิษฐ์ที่มีการคัดเลือกอย่างดีและผ่านการพิสูจน์เป็นเวลานานจากผู้ใช้ทั้งในหมู่บ้านและตำบลใกล้เคียง ส่วนลวดลายสีสันจะเป็นไปตามจินตนาการของผู้ทอ ซึ่งเป็น ภูมิปัญญาชาวบ้าน ที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ ผู้ที่ต้องการใช้ผ้าทอหนองขาว ยังสามารถที่จะออกแบบเฉพาะของตนเองได้ตามลวดลายและสีสันที่ต้องการ ซึ่งคุณอารีรัตน์ และกลุ่มสมาชิกกลุ่มทอผ้ารับรองว่า เป็นผ้าทอที่มีคุณภาพดี สีสดใส ลวดลายแปลกตา แต่ราคาถูกใจ ผ้าทอหนองขาวจึงเป็นทางเลือกอีกทางหนึ่งของผู้ที่แสวงหาของฝากที่ ถูกตาในราคาที่ถูกยุค จากเมืองกาญจน์



“แต่ละคนจะรับงานไปทำที่บ้านของตนเอง ตกเดือนๆ หนึ่งสามารถทอผ้าขาวม้าส่งจำหน่ายได้ราว 100 กว่าผืน ก็ขึ้นอยู่กับความขยันด้วย อย่างถ้าฤดูทำนาทำไร่จะทอได้ไม่มากนัก เพราะต้องไปทำหน้าที่ประจำ แต่ก็ถือว่าเป็นอาชีพเสริมสามารถเลี้ยงครอบครัวให้อยู่ดีมีสุข”

ว่างเว้นจากทำนาทำไร่ ชาวชุมชนบ้านหนองขาวไม่เว้นว่างสร้างอาชีพ กับการทำผ้าขาวม้าส่งจำหน่าย สร้างรายได้อีกทางหนึ่ง

ความโดดเด่นด้านสีสันหลากหลาย มีให้เลือกแบบจุใจ จึงได้ชื่อว่า “ผ้าขาวม้าร้อยสี”

 
ยามว่างสร้างอาชีพ ทอผ้าขาวม้าหลากสี
คุณกิมจัง ศิวางกูร ประธานกลุ่มสตรีสหกรณ์บ้านหนองขาว ในวัย 67 ปี ผู้มีประสบการณ์ทอผ้ามาเนิ่นนาน เล่าให้ฟังถึงจุดกำเนิดของกลุ่ม “ว่างจากทำนา ทำไร่ ก็อยากมีอาชีพเสริม จึงปรึกษาสามีซึ่งเป็นสมาชิกสหกรณ์อยู่ เขาก็เห็นว่าชาวชุมชนหนองขาวมีภูมิปัญญาด้านการทอผ้าขาวม้าได้คุณภาพดีอยู่แล้ว น่าจะนำตรงนี้มาเป็นอาชีพเสริม”

หลังรวมกลุ่มได้สมาชิกราว 20 คน ก่อเกิดความเข้มแข็งพอมุ่งสู่อาชีพ โดยมีสหกรณ์การเกษตรสุวรรณภูมิ ตำบลบ้านหนองขาว อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี เป็นหน่วยงานผลักดันหลัก สนับสนุนการจัดหาเส้นด้ายไหมประดิษฐ์มาจำหน่ายให้กับสมาชิกนำไปสู่กระบวนการผลิตด้วยราคายุติธรรม พร้อมกันนั้นยังสนับสนุนกี่สำหรับทอผ้า และรับซื้อผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการทอเป็นผ้าขาวม้าแล้วเพื่อจัดจำหน่ายที่ร้านค้าสหกรณ์ โดยตกลงราคารับซื้อผืนละ 120 บาท ขนาดความกว้าง 80 เซนติเมตร ยาว 2 เมตร จากนั้นสหกรณ์จะทำหน้าที่บรรจุสินค้าเพื่อขายให้ผู้สนใจในราคาประมาณผืนละ 150 บาท

“เริ่มผลิตเมื่อปี 2546 ถือว่าโชคดีได้สหกรณ์สนับสนุน เพราะไหมประดิษฐ์นำมาผลิตผ้าขาวม้าราคาสูงมาก ถ้าต้องลงทุนทั้งหมดในคราวเดียวคงใช้เงินถึงหลักแสนบาท นอกจากนั้นยังได้หน่วยงานภาครัฐสนับสนุน อย่าง พัฒนาชุมชน ทำให้สินค้าเข้าสู่โอท็อปด้วย”

สำหรับกี่ใช้ในการทอ คุณกิมจัง ว่า สมาชิกส่วนใหญ่มีไว้ประจำบ้าน โดยผู้ผลิตจำหน่ายเป็นคนในชุมชน ราคาขายจึงไม่แพง “กี่ตัวหนึ่งมีอายุการใช้งานค่อนข้างนาน หรือหากเกิดปัญหาก็สามารถซ่อมใช้เองได้”

การให้สีสันของเนื้อผ้าคือความโดดเด่นแปลกตากว่าผืนผ้าขาวม้าทั่วไป ซึ่งคุณกิมจัง ว่า เกิดจากการออกแบบของผู้ผลิตที่ไม่ยึดติดอยู่ในกรอบ ส่วนคุณสมบัติอื่นสามารถเรียกความประทับใจคือคุณภาพของเส้นไหมประดิษฐ์นำมาทอแล้วเกิดสภาวะคงตัว นั้นหมายถึง ไม่หด ไม่ยืด ซักน้ำสีไม่ตก

 
ลายผ้าเอกลักษณ์ ตาจัก จากภูมิปัญญา
ไม่เพียงผ้าขาวม้าที่ผลิตออกมาจำหน่าย แต่ยังต่อยอดผลิตภัณฑ์เป็นเสื้อผ้าสำเร็จรูปทั้งหญิงและชาย หรือหากใครต้องการผืนผ้านำไปตัดเย็บตามรูปแบบที่ตนเองชอบ ก็มีจำหน่ายในราคายุติธรรม

ถามถึงรูปแบบการทำงาน คุณกิมจัง ว่า แต่ละคนจะรับหน้าที่ไปตามความถนัด ซึ่งกระบวนการผลิตผ้าขาวม้า นั้นมีหลายขั้นตอน เริ่มต้นตั้งแต่ การกรอด้าย, ตั้งลายผ้า, ค้นหูก, รำวง หรือเรียกว่าการแยกด้าย, หวี และทอ

ฉะนั้น หากเดินทางไปหมู่บ้านหนองขาว จึงจะได้เห็น กรรมวิธีการผลิตของแต่ละหลังคาเรือนแตกต่างกันไป ซึ่งค่าแรงก็กำหนดไปตามข้อตกลง แต่สุดท้ายคือกระบวนการทอเสร็จแล้วจะนำไปส่งจำหน่ายยังสหกรณ์ ซึ่งมีตลาดหลักเป็นหน่วยงานราชการหลายแห่งในหลายๆ จังหวัดรับซื้อ

“แต่ละคนจะรับงานไปทำที่บ้านของตนเอง ตกเดือนๆ หนึ่งสามารถทอผ้าขาวม้าส่งจำหน่ายได้ราว 100 กว่าผืน ก็ขึ้นอยู่กับความขยันด้วย อย่างถ้าฤดูทำนาทำไร่จะทอได้ไม่มากนัก เพราะต้องไปทำหน้าที่ประจำ แต่ก็ถือว่าเป็นอาชีพเสริมสามารถเลี้ยงครอบครัวให้อยู่ดีมีสุข”

การประชาสัมพันธ์สินค้า เป็นสิ่งที่กลุ่มสตรีสหกรณ์บ้านหนองขาว ไม่มองข้าม โดยจะเดินทางไปร่วมออกงานแสดงสินค้า เพื่อเปิดโอกาสให้กว้างขึ้น

ถามถึงลวดลายที่ขึ้นชื่อถือเป็นเอกลักษณ์เด่นของชุมชนหนองขาว คือ “ลายตาจัก” โดยคุณกิมจัง เล่าให้ฟังว่า กรรมวิธีการทอผ้าลายนี้ค่อนข้างพิถีพิถันและใช้ระยะเวลานานพอสมควร ฉะนั้น กับราคาขายจึงต้องขยับสูงกว่าลายทั่วๆ ไป โดยส่งให้สหกรณ์ผืนละ 160 บาท

มีโอกาสเดินทางไปจังหวัดกาญจนบุรี หากอยากรู้ว่าผ้าขาวม้าร้อยสี มีหน้าตาเป็นเช่นไร เดินทางไปได้ที่บ้านหนองขาว ตำบลหนองขาว อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี และหากเป็นไปได้ ลองเข้าไปดูกรรมวิธีผลิตผ้าขาวม้าของชุมชนแห่งนี้ เพราะ “เส้นทางเศรษฐี” เชื่อว่า แม้แต่บาทเดียว คุณก็จะไม่กล้าต่อรองราคาเลย


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น